สกุลเงินดิจิทัล : ระบบการเงินธนาคารพร้อม (ต้อนรับ)?
“ประเมินกันว่า บทบาทของแบงก์ชาติและสกุล CBDC จะทำให้ชาวโลก 1,700 ล้านคน ที่ไม่เคยเข้าถึงระบบธนาคารพาณิชย์ ได้มีโอกาสเข้าถึงระบบธนาคารเสียทีหากบรรดาแบงก์ชาติ เข้ามาเล่นบทธนาคารพาณิชย์ของประเทศด้วย”
เรื่องเทคโนโลยีจะชอบหรือไม่ชอบ ก็ตีสนิทใกล้ตัวเราเข้ามาเรื่อยๆ ยิ่งโรคโควิด-19 อยู่กับโลกนานเท่าไหร่ ความสำคัญของเทคโนโลยีดูเหมือนจะยิ่งทวีคูณ และปรากฏให้เห็นอย่างโดดเด่น ที่สังเกตได้ชัดๆ ก็เช่น การทำงานที่บ้าน ก็ต้องอาศัยคอมพิวเตอร์และระบบปฏิบัติการทันสมัยมากมาย เพื่อให้การทำงานติดต่อกันมีประสิทธิภาพมากที่สุด เสมือนกับนั่งทำงานหรือประชุมกันในออฟฟิศนั่นเอง หรือ การพักผ่อนหย่อนใจ ซื้อข้าวซื้อของ ก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด จนทำให้ผู้คนหันมาใช้ชีวิตที่บ้านมากขึ้น พร้อมหาความสำราญจากบรรดาแอปฯต่างๆ ผ่านทางสมาร์ตโฟน และ ระบบสื่อสารใหม่ๆ ที่แข่งขันเสนอตัวให้บริการอย่างเต็มที่
โดยภาพรวมๆ ก็คือ โควิดทำให้ผู้คนต้องใช้ชีวิตอยู่กันเป็นเอกเทศมากขึ้น เพื่อความปลอดภัยจากโรคร้าย โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยให้การดำเนินชีวิตและการทำมาหากินยังคงสามารถก้าวต่อไปเกือบปกติ
ความจริง เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ได้พัฒนากันมาเรื่อยๆ ไม่เคยหยุด แต่โรคระบาดโควิด ได้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนให้เรื่องราวเทคโนโลยีจู่โจมเข้ามาใกล้ตัวผู้คนมากขึ้นและเร็วขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ในระบบการเงินการธนาคาร ซึ่งโควิดส่งผลกระทบให้คนแทบจะไม่อยากแตะต้องธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ และหันไปใช้จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น แถมยังสะดวกเมื่อช้อปปิ้งออนไลน์ ก็สามารถจ่ายเงินผ่านทางแอปฯการชำระเงินได้เลย ไม่ต้องควักกระเป๋าหยิบเงินสดให้เสียเวลาทีหลัง
ถ้าสังเกตให้ดี ดูเหมือนความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการเงินการธนาคาร ค่อนข้างเรื่อยเปื่อย เชื่องช้า เมื่อเทียบกับภาคธุรกิจอื่นๆ ยกตัวอย่าง เช่น วงการรถยนต์ ก้าวหน้าขนาดรถยนต์รุ่นใหม่จะวิ่งได้เอง โดยเจ้าของไม่ต้องเสียแรงขับอีกต่อไป หรือวงการท่องเที่ยว ก็ใช้เทคโนโลยีอวกาศมาช่วยโปรโมชั่น ในเมื่อท่องเที่ยวบนโลกอาจติดโควิด ลองไปเที่ยวนอกโลกดูบ้าง อาจสนุกเร้าใจ เพียงแต่ต้องกระเป๋าหนักหน่อยเท่านั้น ว่ากันว่า ท่องเที่ยวอวกาศรอบแรก ราคาที่นั่งเกือบ 30 ล้านดอลลาร์ต่อคน ได้ชมวิวโลกจากยานอวกาศและลิ้มรสบรรยากาศไร้น้ำหนัก รวมเวลาเดินทางเบ็ดเสร็จราว 30 นาที นอกจากนี้ ยังมีภาคธุรกิจอื่นๆ อีกเยอะแยะที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ เข้าไปช่วยให้งานและวิถีชีวิตสะดวกสบายดีขึ้น
นาย Paul Volcker อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งมีอิทธิพลมากในช่วงยุค 1980-1990 ได้เคยเปรยทีเล่นทีจริงว่า การเกิดวิกฤติการเงินโลกปี 2008 สะท้อนให้เห็นระบบการเงินการธนาคารโลก ไม่ค่อยปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เท่าที่ควร จึงอาจทำให้การรับมือกับปัญหาการเงินการธนาคารล่าช้า ส่งผลเสียหายอย่างน่าเสียดาย นาย Volcker มองว่า วิวัฒนาการในวงการแบงกิ้งที่เห็นเป็นเนื้อเป็นหนังมากที่สุดก็คือ ระบบ ATM โน่น
แม้ว่าอาจเป็นการหยอกเล่น แต่ก็บ่งบอกความอืดอาดในแวดวงการเงินการธนาคารโลกเหมือนกัน หลังจากเกิดวิกฤติการเงินโลก 2008 จึงส่งผลให้ระบบแบงกิ้งในประเทศต่างๆ กระวีกระวาดปฏิรูปการดำเนินงานและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) กันอย่างมโหฬาร เพื่อป้องกันความวิบัติไม่ให้เกิดขึ้นอีก
อย่างไรก็ตาม วงการเงินๆ ทองๆ ใช่ว่าจะล้าหลังเป็นเต่าล้านปี เพียงแต่เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ กระจายเข้าไปอยู่ในกลุ่มนักคอมพิวเตอร์ นักคณิตศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์ สมองเฟื่องเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งช่วยให้แวดวงการเงินธนาคารตื่นตัว โดยเฉพาะการสร้างสกุลเงินดิจิทัล เพื่อให้คนที่ต้องการอิสระจากระบบการเงินดั้งเดิม ได้เข้ามาทดลองการใช้เงินสกุลใหม่ เช่น สกุลเงิน Bitcoin ที่ถือว่าได้รับความนิยมมากสุด ส่วนน้องๆ ที่ทยอยเกิดตามมา ก็ได้รับการต้อนรับลดหลั่นกันไป แรกๆ ก็มีผู้คนสนใจไม่แพร่หลาย กระจุกอยู่กับคนที่ชอบความแปลกใหม่ ความเสี่ยง ความท้าทาย
แต่เมื่อวงการเงินดิจิทัลได้พยายามให้ความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณชนมากขึ้น ก็ได้รับการตอบรับเป็นลำดับ ปัจจุบัน Bitcoin ได้กลายเป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งเพื่อการลงทุน มีมูลค่าตลาดมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนน้องๆ ของ Bitcoin ก็มีการซื้อขายในตลาดเงินดิจิทัลคึกคักไม่แพ้กัน
Bitcoin และสกุลเงินดิจิทัลพวกนี้ ต้องใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ขั้นเทพ เพื่อผลิตเป็นสกุลเงินดังกล่าว ว่ากันว่า กว่าจะผลิตได้แต่ละเหรียญต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามหาศาล และต้องใช้เทคโนโลยีควบคุมการซื้อขายแลกเปลี่ยน โดยปราศจากองค์กรใดองค์หนึ่งมาทำหน้าที่ควบคุมดูแล จึงทำให้สกุลเงินดิจิทัลกลุ่มนี้ ได้รับความนิยมจากพวกนักลงทุนและนักธุรกิจที่แสวงหาความเป็นอิสระและมีความเป็นตัวเองสูง
นอกจากสกุลเงินดิจิทัล จะสะท้อนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ในแวดวงการเงินการธนาคารแล้ว ระบบการชำระเงินแบบดิจิทัล ก็ถือว่าเป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่ง ที่แพร่หลายรวดเร็วมากในช่วงไม่ถึงสิบปี โดยเฉพาะการชำระเงินผ่านระบบสมาร์ตโฟน เช่น Alipay และ WeChat Pay เป็นต้น ซึ่งบริการชำระเงินแบบดิจิทัลพวกนี้ บรรดาธุรกิจแขนงต่างๆ ที่ทำธุรกรรมออนไลน์ มักจะพัฒนาระบบการชำระเงินแบบดิจิทัล เพื่อให้ลูกค้าได้รับความสะดวกง่ายดายในการจ่ายเงิน และธุรกิจร้านค้าก็รับเงินเร็วเช่นกัน
ความหวือหวาของสกุลเงินดิจิทัล ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากราคาซื้อขายหลักพันดอลลาร์ ต่อ Bitcoin กระโดดมาเป็นหลักหมื่นดอลลาร์ แถมยังแกว่งตัวไปมารุนแรง ทั้งๆ ที่อาจมีปัจจัยมากระทบไม่มากนัก แต่ความอ่อนไหวกลับมีมากมาย จนสร้างความหวาดเสียวไปทั่วระบบการเงิน จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ธนาคารกลางของบางประเทศ ต้องยื่นมือเข้าไปกำกับดูแลการซื้อขายสกุลเงินพวกนี้อย่างใกล้ชิด
ในขณะเดียวกัน บทบาทของกลุ่มธุรกิจที่ดำเนินงานเกี่ยวกับระบบชำระเงินแบบดิจิทัล ก็อยู่ในสายตาของแบงก์ชาติเช่นกัน เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมรวดเร็ว โดยเฉพาะช่วงโควิด จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ากลุ่มธุรกิจพวกนี้ เริ่มเอาเปรียบลูกค้าที่ใช้จ่ายผ่านระบบชำระเงินดิจิทัล ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ประเทศจีน ซึ่งธนาคารกลางและหน่วยงานรัฐอื่นๆ กำลังคุมประพฤติและจัดระเบียบบรรดาบริษัทที่เกี่ยวข้องกับระบบชำระเงินแบบดิจิทัลกันอย่างไม่ไว้หน้า พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องรีบตัดเขี้ยวเล็บลงบ้าง ก่อนงอกขยายใหญ่โต ในปี 2020 การชำระเงินผ่านแอปฯมือถือในจีนมีมูลค่ากว่า 60 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่ามากสุดในโลก สะท้อนให้เห็นบทบาทสำคัญของแอปฯชำระเงินเหล่านี้
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำยุคทางการเงิน ซึ่งได้รับความสนใจชื่นชอบอย่างแพร่หลายเป็นลำดับ ได้กลายเป็นแรงกระตุ้นให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมระบบการเงินการธนาคารให้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพที่สุด ต้องรีบหันมามองวิวัฒนาการทางการเงินใหม่ๆ เหล่านี้อย่างจริงจัง โดยพิจารณาถึงผลกระทบต่อระบบการเงินธนาคารและเศรษฐกิจจะมีแค่ไหน และควรลงมือล้อมคอกอย่างไรดี
หนึ่งในความคิดแว็บแรกของบรรดาแบงก์ชาติก็คือ ในเมื่อคนชอบเงินดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ และหันมาใช้จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน พวกเราธนาคารกลาง ก็ควรปรับตัวลงสนาม “เงินดิจิทัล” เหมือนกัน
แนวคิดที่แบงก์ชาติจะสร้างสกุลเงินดิจิทัล ออกมาใช้เสริมกับธนบัตร ได้เริ่มขึ้นมาหลายปีแล้ว แต่ก็ไม่ได้ฮือฮาเป็นข่าวครึกโครมอะไรมากนัก เพราะส่วนใหญ่ยังอยู่ในกระบวนการศึกษาวิจัยและทดลองในกลุ่มเล็กๆ ไปพลางๆ ก่อน อีกทั้งต้องมีการวางกฎระเบียบอย่างรอบคอบ และ สอดคล้องกับกติกาสากลที่แบงก์ชาติของประเทศต่างๆ เห็นพ้องต้องกันอีกต่างหาก
อย่างไรก็ตาม ในเมื่อพวกเงินดิจิทัลเอกชน กำลังมีอิทธิพลในระบบการเงินและเศรษฐกิจโลกอย่างชัดเจน ขนาดธุรกิจไฮเทคชั้นนำบางราย ยังกระโดดเข้าร่วมวงด้วย เช่น Facebook ก็มีสกุลเงินดิจิทัลของตัวเอง ชื่อ Diem เป็นต้น กระแสนิยมสกุลเงินดิจิทัล รวมถึงธุรกรรมการเงินที่ผ่านระบบดิจิทัลอย่างมหาศาล นับเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ธนาคารกลางส่วนใหญ่ ต้องรีบคุมเกมให้ทันท่วงทีเช่นกัน เพราะหน้าที่สำคัญของแบงก์ชาติประการหนึ่งก็คือ การควบคุมปริมาณเงินในระบบการเงินและเศรษฐกิจให้เหมาะสม แต่ในเมื่อเงินดิจิทัลเอกชนทะลักเข้าระบบเศรษฐกิจมากขึ้น การควบคุมจะยุ่งยาก อีกทั้งการปล่อยให้เงินดิจิทัลเอกชนผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด บางสกุลก็อาจไม่น่าเชื่อถือ สร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนอีกต่างหาก
บรรดาธนาคารกลาง จึงมีแนวคิดว่าในเมื่อคนชอบใช้เงินดิจิทัล แบงก์ชาติก็ควรพิจารณาออกสกุลเงินดิจิทัลให้ประชาชนได้ใช้ในชีวิตประจำวันกันไปเลย ทั้งนี้ ในอนาคตแทนที่จะต้องถือเงินสด จำพวกธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ ก็พกมือถือพร้อมแอปฯของแบงก์ชาติที่มีเงินฝากซึ่งแปลงเป็นเงินดิจิทัลเรียบร้อย เมื่อเวลาจะใช้จ่ายหรือโอนเงินหรือทำธุรกรรมการเงินอื่นๆ ก็ผ่านแอปฯ โดยแบงก์ชาติค้ำประกันเต็มที่
แนวคิดเบื้องต้นก็คือ ธนาคารกลางจะลดตัวลงจากที่เคยอยู่บนหอคอยงาช้างมาเป็นธนาคารที่ทำหน้าที่เสมือนแบงก์พาณิชย์นั่นเอง ไม่ใช่แค่ออกนโยบายโน่นนี่เท่านั้น แต่จะรับฝากเงินของประชาชนอีกด้วย มาตรการนี้ พวกกูรูการเงินเชื่อว่า ประชาชนน่าจะสนใจใช้เงินดิจิทัลของแบงก์ชาติ เพราะปลอดภัย 100% หรือใครจะเถียงว่าแบงก์ชาติจะล้มละลายง่ายๆ เหมือนสถาบันการเงินเอกชน บรรดาธนาคารกลางคาดว่าสกุลเงินแบงก์ชาติ หรือ Central Bank Digital Currencies (CBDC) น่าจะแย่งตลาดความนิยมจากสกุลเงินดิจิทัลเอกชนได้มากขึ้น และช่วยลดความเสี่ยงในการควบคุมระบบการเงินในประเทศ
ประโยชน์ของ CBDC อีกประการหนึ่งก็คือ รัฐบาลจะออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนอะไรก็ตาม ก็จ่ายเงินดิจิทัลเช้าบัญชีเงินคนๆ นั้นได้เลย ซึ่งน่าจะทำให้การใช้มาตรการทางการเงินของรัฐบาลผ่านแบงก์ชาติสะดวกรวดเร็ว เข้ากลุ่มเป้าหมายทันที ที่สำคัญที่กูรูการเงินย้ำ ได้แก่ ประเทศต่างๆ ต้องให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงแอปฯแบงก์ชาติ เพื่อทำธุรกรรมการเงินได้อย่างปกติ ประเมินกันว่า บทบาทของแบงก์ชาติและสกุล CBDC จะทำให้ชาวโลก 1,700 ล้านคน ที่ไม่เคยเข้าถึงระบบธนาคารพาณิชย์ ได้มีโอกาสเข้าถึงระบบธนาคารเสียทีหากบรรดาแบงก์ชาติ เข้ามาเล่นบทธนาคารพาณิชย์ของประเทศด้วย
คนทั่วไปอาจเริ่มงง? แล้วพวกแบงก์พาณิชย์ทำอะไร? ขณะนี้การดำเนินการเกี่ยวกับสกุลเงิน CBDC ยังคงอยู่ในขั้นการทำงานวิจัยและการทดลอง ยังไม่มีการออกสกุลเงิน CBDC อย่างเป็นทางการ ยกเว้นประเทศเดียวคือ The Bahamas ในทะเลแคริบเบียน ที่เพิ่งใช้สกุลเงิน CBDC เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เรียกว่า The Sand Dollar
งานวิจัยได้คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดกับแบงก์พาณิชย์เหมือนกัน โดยเฉพาะในกรณีที่ประชาชนเกิดชื่นชอบที่จะเป็นลูกค้ากับแบงก์ชาติ และลดจำนวนการฝากเงินกับแบงก์พาณิชย์ ก็อาจส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์มีเงินฝากลดน้อยลง ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญสำหรับการนำไปปล่อยสินเชื่อ ก่อให้เกิดความวุ่นวายให้กับระบบแบงก์พาณิชย์ที่เงินทุนในรูปเงินฝากร่อยหรอลง เพราะถูกพวกแบงก์ชาติแย่งลูกค้าของตน เผลอๆอาจฉกลูกค้ากลุ่มอื่นๆ อีกด้วย ตามธุรกรรมการเงินที่แบงก์ชาติจะออกมาให้บริการ
ประเด็นนี้ อาจยังไม่ชัดเจนเท่าใดนัก แต่สมาคมธนาคารของสหรัฐฯ ไม่รอให้ธนาคารกลาง (Federal Reserve : Fed) ออกสกุลเงิน Digital Dollar หรือ Fedcoin เสียก่อน จึงส่งเสียงคัดค้านอย่างเต็มที่ โดยให้เหตุผลว่าสกุลเงินดิจิทัล หรือ CBDC ไม่น่าจะเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจสหรัฐฯสักเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับผลกระทบกับธุรกิจการเงินการธนาคารของประเทศ แถม คนอเมริกันก็ยังชอบใช้เงินสด เครดิตการ์ด หรือ เซ็ค ส่วนการชำระเงินผ่านแอปฯมือถือในแดนโคบาลในปีที่แล้ว มีมูลค่าไม่ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่แอบสะใจและสนับสนุน CBDC ในสหรัฐฯ บอกเหตุผลตรงๆ ก็คือ ต้องการดัดหลังพวกแบงก์พาณิชย์มะกันเสียบ้าง เพราะเก็บค่าบริการโหดเหลือเกิน แถมยังให้บริการชักช้ากว่าจะผ่านเช็คต่างธนาคารแต่ละที บางแห่งรอนานแทบทนไม่ไหว
ท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ยังไม่ชัดเจน แต่สหรัฐฯก็ไม่ปฏิเสธถึงบทบาทสกุลเงินดิจิทัลของแบงก์ชาติต่างๆ ในอนาคต ส่วนในสหรัฐฯ การดำเนินการต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาอเมริกัน ขณะนี้สหรัฐฯอยู่ในกระบวนการศึกษาวิจัยถึงสกุลเงินดิจิทัล หรือ CBDC ของประเทศ โดยมีธนาคารกลางสาขาบอสตัน และมหาวิทยาลัยชั้นนำ MIT เป็นเจ้าภาพ ซึ่งคาดว่าผลการศึกษาน่าจะเสร็จเรียบร้อยในเร็วๆ นี้
สำหรับท่าทีของรัฐมนตรีคลัง นาง Janet Yellen โอนเอียงไปในทิศทางสนับสนุนสกุลเงินอนาคต เพราะน่าจะยิ่งเพิ่มอำนาจให้ภาครัฐ มีบทบาทยิ่งขึ้นทั้งในธุรกิจการเงิน และอาจในวิถีชีวิตพลเมือง เช่น ใครฝ่าฝืนกฎหมาย ต้องเสียค่าปรับ คงหนียาก เพราะแบงก์ชาติอาจตัดเงินในบัญชีดิจิทัลเป็นค่าปรับได้เลย จนมุมในที่สุด
ส่วนมิตรประเทศใกล้ชิดกับเมืองลุงแซมอย่างสหภาพยุโรปและอังกฤษ ระบุขัดเจนว่า ต้องการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของแบงก์ชาติ ขณะนี้อังกฤษกำลังอยู่ในกระบวนการศึกษาความเป็นไปได้อย่างจริงจัง ส่วนธนาคารกลางยุโรป หรือ European Central Bank (ECB) ได้มีรายงานเกี่ยวกับเงินดิจิทัลออกมาเผยแพร่สู่สาธารณชนเป็นระยะๆ พยายามสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนในกลุ่มอียูให้มากที่สุด นักวิเคราะห์ทางการเงินเมาธ์กันทีเล่นทีจริงว่า นาง Christine Lagarde ประธานธนาคารกลาง ECB คนใหม่ อาจต้องการสร้างผลงานจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเงินอียู จึงพยายามเข็นเงินดิจิทัลอียู ด้วยเหตุผลลึกๆ อาจต้องการให้สกุลเงินดิจิทัลอียู ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และขยายส่วนแบ่งตลาดจากเงินดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันเงินยูโร ใช้ในตลาดเงินและตลาดการค้าต่างประเทศ มีส่วนแบ่งตลาดราวๆ 1 ใน 5 ของมูลค่าธุรกรรมการเงินและการค้าดังกล่าวของโลก เทียบกับเงินดอลลาร์มีส่วนแบ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งทีเดียว ทางอียูคาดว่าสกุลเงินดิจิทัลของตนน่าจะคลอดภายในปี 2025
ความคิดของ นาง Lagarde อาจคล้ายคลึงกับผู้นำและแบงก์ชาติจีนเหมือนกัน เพราะปัจจุบัน จีนเป็นประเทศมหาอำนาจที่ลุกขึ้นมาผลักดันสกุลเงินดิจิทัลหยวนอย่างเต็มตัว โดยจัดให้มีการทดลองใช้สกุลเงินดังกล่าวแล้ว เรียกว่า e-CYN ในเขตเศรษฐกิจสำคัญๆ ของประเทศ โดยมีประชาชนเข้าร่วมราว 500,000 คน ในเบื้องต้นผลการทดลอง ดูไม่ตื่นเต้นเท่าใดนัก อาจเป็นเพราะคนจีนคุ้นเคยกับการใช้ระบบการใช้จ่ายหรือทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านแอปฯทางเมือถืออยู่แล้ว เพียงแต่งานนี้เป็นของแบงก์ชาติจีนเท่านั้น
กูรูของจีนมองว่า การที่ทางการจีนเร่งพัฒนา e-CYN ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ก็เพื่อต้องการหลุดพ้นจากเงินดอลลาร์สหรัฐ เพราะทุกวันนี้ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองมังกรกับลุงแซมยังคงอึมครึม หากในอนาคตเงิน e-CYN กลายเป็นสกุลเงินนานาชาติมากขึ้น จีนก็ไม่ต้องพะวงกับการถูกกีดกันจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และหากยิ่งเงิน e-CYN เฟื่องฟูจริงๆ จังๆ ในเวทีการเงินและการค้าโลก บทบาทเงินดอลลาร์ก็มีสิทธิ์ถดถอยลง ทางการจีนเชื่อว่า นักลงทุนและนักธุรกิจรุ่นใหม่ น่าจะชอบความทันสมัย สะดวก รวดเร็ว พร้อมที่จะหันมาใช้ e-CYN อย่างแน่นอน แต่ที่สำคัญก็คือ จีนต้องพิสูจน์ให้เห็นความโปร่งใสในกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และสร้างความน่าเชื่อถือใน e-CYN สู่กติกาสากลด้วย ไม่งั้นใครจะเสี่ยง?